อยากรู้ : ขั้นตอนในโรงสี จากข้าวเปลือก เป็นข้าวสาร
Series : Easy Production - Thailand 4.0
เกริ่นนำ : บทความเหล่านี้เขียนขึ้นเพื่อเล่าเรื่องการผลิตในอุตสาหกรรม โดยใช้ประสบการณ์ของผู้เขียน เนื้อหาจะแบ่งเป็นหลายตอน ผู้อ่านสามารถเลือกเฉพาะบทความที่สนใจได้
เมืองไทยมีแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิชั้นดี อยู่ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ มีพื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ ข้าวหอมจึงถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก บทความนี้จึงขอกล่าวถึงกระบวนการนำข้าวมาสีเพื่อให้ได้ข้าวขาวหอม ที่เราใช้รับประทานกัน ย้อนหลังไปราว 40 ปีที่แล้ว ข้าวสารแห้งที่ขายกันตามร้านค้า บางทีก็เรียกร้านข้าวสาร มีการขายเป็นกระสอบป่าน ที่มีขนาดบรรจุ 100 กิโลกรัม ครอบครัวที่มีสมาชิกมาก จะสั่งจากร้านค้าทีละกระสอบ และมีจับกังที่ประจำตามร้านค้านั้น แบกมาส่งให้ที่บ้าน แต่ในปัจจุบันครอบครัวมีขนาดเล็กลง การซื้อทีละกระสอบ คงไม่สะดวก ดังนั้นเราจึงเห็นตามร้านค้าทั่วไป มีการขายข้าวสารที่มีถุงขนาดเล็กลง และเป็นมาตรฐาน ประมาณ 5 กิโลกรัม เพื่อสะดวกในการหยิบซื้อ
เนื่องจากวัตถุดิบทางด้านการเกษตร มีความผันผวนค่อนข้างสูง บางครั้งก็มีราคาสูง บางครั้งก็มีราคาต่ำ ดังนั้น การคิดหาวิธีที่จะรับรู้ต้นทุนการผลิตที่สามารถสะท้อนตามราคาวัตถุดิบได้อย่างรวดเร็ว อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยบริหารและลดความเสี่ยงต่างๆ ในโรงงานได้
ในระบบการผลิตข้าวสาร ผู้ใช้งานสามารถเลือกบันทึกข้อมูลการผลิตได้ ทั้งแบบที่ไม่ต้องมีใบสั่งผลิต โดยเก็บต้นทุนรายเดือน (period base) หรือแบบที่ต้องมีใบสั่งผลิต (order base) โดยจุดสำคัญคือ สินค้าหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูป ที่อยู่ในแต่ละขั้นตอนการผลิต ได้ทำการออกแบบราคาต้นทุน (Price)ในรูปแบบของ moving average และเมื่อทำการรับสินค้าหรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปจากการผลิตในแต่ละจุด โปรแกรมต้องสั่งให้ระบบทำการ settlement ทันที เพื่อนำผลต่างที่เกิดจากการผลิต ไปปรับราคาโดยอัตโนมัติให้เร็วที่สุด
ข้าวสารในแต่ละถุง กว่าจะได้มา ต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน สำหรับในบทความนี้ จะกล่าวถึงกระบวนการผลิต ที่เริ่มตั้งแต่ ได้รับข้าวเปลือกที่ชาวนานำมาขายให้กับโรงสี
ในกระบวนการผลิตข้าวสาร แบ่งเป็น 2 กระบวนการใหญ่ๆ ทำงานต่อเนื่องกัน
- กระบวนการแรก เรียกว่า โรงสี
- กระบวนการถัดมา เรียกว่า โรงปรับปรุง
--------------------------------------------------------------------------------------------
รายละเอียดของกระบวนการในโรงสี มีดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 : นำข้าวเปลือก มาผ่านเครื่องทำความสะอาด เพื่อให้ได้ข้าวเปลือกแห้งสะอาด โดยมีผลพลอยได้ คือ แกลบ
ขั้นตอนที่ 2 : นำข้าวเปลือกแห้งสะอาด มาผ่านเครื่องนึ่ง เพื่อให้ได้ข้าวเปลือกนึ่ง
ขั้นตอนที่ 3 : นำข้าวเปลือกนึ่ง มาผ่านเครื่องกะเทาะ เพื่อให้ได้ข้าวกล้อง โดยมีผลพลอยได้ คือ แกลบ
ขั้นตอนที่ 4 : นำข้าวกล้อง มาผ่านเครื่องขัดขาว เพื่อให้ได้ข้าวหอม โดยมีผลพลอยได้ คือ รำ ข้าวหอมหักใหญ่ ข้าวหอมหักกลาง ข้าวหอมหักเล็ก
สรุปว่า สิ่งสุดท้ายที่ได้จากโรงสีคือข้าวหอม ที่ผ่านขั้นตอนที่ 4 นั่นเอง และถูกเก็บไว้ในกระสอบขนาดใหญ่ เพื่อรอขนส่งไปยังกระบวนการถัดไป สำหรับผลพลอยได้ จะถูกรวบรวม เพื่อนำไปจำหน่ายได้
--------------------------------------------------------------------------------------------
ในกระบวนการถัดมา คือนำข้าวหอม มาขัดอีกรอบ ให้ได้ข้าวขาวหอม และบรรจุถุงขนาดมาตรฐาน เพื่อส่งจำหน่ายตามร้านค้า ในกระบวนการนี้ เกิดขึ้นที่โรงปรับปรุง ซึ่งจะเป็นคนละพื้นที่แยกจากโรงสี จึงต้องมีการเคลื่อนย้ายข้าวหอมระหว่างโรงสี มายังโรงปรับปรุง สำหรับกระบวนการผลิตที่โรงปรับปรุง อาศัยหลักการแรงโน้มถ่วงโลก โดยการตั้งเป็นหอสูง และทำการดูดข้าวหอมที่รอการขัด ไปเทที่ชั้นสูงสุดเพื่อไหลลงเข้าเครื่องขัดขาว
แบ่งเป็น 2 ขั้นตอนย่อยดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : นำข้าวหอม ผ่านเครื่องขัด เพื่อให้ได้ข้าวขาวหอม ที่ผ่านการคัดเลือกในส่วนของความสมบูรณ์ของแต่ละเมล็ด โดยมีผลพลอยได้ คือ ข้าวขาวหอมหักกลาง และ ข้าวขาวหอมหักปลาย ซึ่งจะถูกแยกขายเป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่ง
ขั้นตอนที่ 2 : นำข้าวขาวหอมที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว ผ่านเครื่องบรรจุถุงขนาดมาตรฐาน และนำไปจัดเก็บที่โกดังสินค้า
ดังนั้นสิ่งที่ได้รับจากโรงปรับปรุง คือ ข้าวขาวหอม ที่พร้อมจำหน่ายนั่นเอง
--------------------------------------------------------------------------------------------
ในกระบวนการผลิตที่เป็นลักษณะของการผ่านถังพักรอขนาดใหญ่ ที่เป็นลักษณะไซโล ในหลายๆ บริษัทจะพบการใช้ software SCADA ที่ควบคุมการเปิด-ปิด ถังเหล่านี้ และสามารถบันทึกการใช้งาน และผลผลิตที่ได้ด้วย ข้อมูลเหล่านี้ สามารถเลือกเก็บไว้ในหลายลักษณะ เช่น เก็บเป็น text file หรือ เก็บเข้าสู่ระบบ database
ดังนั้นหากต้องการส่งข้อมูลเหล่านี้เพื่อไปบันทึกในระบบ ERP ผู้ใช้งานจำเป็นต้องสร้างระบบ middleware ที่เป็นตัวกลางในการติดต่อ ระหว่างระบบ SCADA กับ ระบบ ERP เพื่อทำหน้าที่ในการรับ-ส่ง ข้อมูลระหว่าง 2 ระบบให้มีความถูกต้องและสอดคล้องกัน
--------------------------------------------------------------------------------------------
สำหรับผู้ที่สนใจบทความนี้ สามารถติดตามจาก
https://www.facebook.com/ConsultChorn
https://consultchorn.blogspot.com
วันอาทิตย์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2560
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น