วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2560

อยากรู้ : รายงาน OEE ทำยังไง?

อยากรู้ :  รายงาน OEE ทำยังไง?
Series : Easy Production - Thailand 4.0
เกริ่นนำ : บทความเหล่านี้เขียนขึ้นเพื่อเล่าเรื่องการผลิตในอุตสาหกรรม โดยใช้ประสบการณ์ของผู้เขียน เนื้อหาแบ่งเป็นหลายตอน ผู้อ่านสามารถเลือกเฉพาะบทความที่สนใจได้
    
      โรงงานอุตสาหกรรม มีรายงานที่ช่วยตรวจสอบการทำงานหลากหลายรูปแบบ แต่ผมพบว่ามีอยู่ตัวนึง ที่หลายๆโรงงานมักนิยมนำไปใช้กัน นั่นคือ รายงาน OEE

      OEE ย่อมาจาก Overall Equipment Effectiveness  ผู้อ่านศึกษารายละเอียดได้จาก internet ซึ่งมีข้อมูลอยู่มากมาย แต่ที่ผมกำลังนำมาคุย เป็นการสรุปให้เห็นแบบง่ายๆ เพื่อให้ผู้ที่เริ่มต้นศึกษา ได้เข้าใจแนวคิดก่อน

      OEE เป็นค่าเปอร์เซนต์ ที่แสดงประสิทธิภาพ ของเครื่องจักรหรือกลุ่มเครื่องจักร ว่าในแต่ละช่วงเวลาทำงานได้ดี มากน้อยเพียงใด ยิ่งมีค่าเปอร์เซนต์มาก แสดงว่าเครื่องจักรนั้นทำงานได้มีประสิทธิภาพมากในช่วงเวลานั้น

ค่าของ OEE เกิดจากการคำนวณผ่าน 3 มิติย่อย
มิติแรก คือ มิติที่พูดถึง อัตราเวลาที่เครื่องจักรทำงาน (Availability) เรียกสั้นๆว่า %A
มิติที่ 2 คือ มิติที่พูดถึง อัตราสมรรถนะ (Performance) เรียกสั้นๆว่า %P
มิติที่ 3 คือ มิติที่พูดถึง อัตราคุณภาพ (Quality production) เรียกสั้นๆ ว่า %Q 
ค่าของ OEE = %A * %P * %Q ดังนั้นถ้ามี % ตัวใดต่ำก็จะฉุดให้ OEE ตกลงไปด้วย

เราเห็นการได้มาของ OEE แล้ว แต่ว่า %A, %P หรือ %Q  มาจากไหนล่ะ  ดังนั้นเราจะไปสำรวจกันว่าแต่ละค่า กว่าที่จะหามาได้ต้องแลกมาด้วยอะไรบ้าง โดยผมได้ทำการยกตัวอย่างที่เกิดจากเครื่องจักร ในวันที่อากาศกำลังสบายๆ วันนึง 

- ค่าแรกที่เข้าไปสำรวจ คือค่า %A  เป็นการพูดถึงเวลา ดังนั้นองค์ประกอบก็ต้องเกี่ยวกับเวลา มีดังนี้

   %A เกิดจาก (Loading time * 100) / Working time   สำหรับแต่ค่าของ loading time กับ working time มีความสัมพันธ์กัน
  
   ยกตัวอย่างเช่น ใน 1 วัน เครื่องจักรทำงานได้ 8 ชั่วโมง และมีแผนการหยุดในวันนั้น 1 ชั่วโมง ดังนั้น เราจะได้ค่า Working time คือ 7 ชั่วโมง (8 - 1)
   และในระหว่างเวลางานเครื่องจักรนั้นเกิดเสียขึ้นมา เสียเวลาซ่อม 2 ชั่วโมง ดังนั้นเราจะได้ค่า loading time คือ 5 ชั่วโมง (7 - 2)
  
           %A ที่คำนวณได้ คือ  (5 * 100) / 7  
           ได้ %A คือ 71.42%

- ถัดมาคือค่าของ %P เป็นการพูดถึงประสิทธิภาพของการผลิต ดังนั้นค่าที่วัด จะเกี่ยวกับจำนวน 

    %P เกิดจาก (Production output * 100) / (Standard output)    

    โดย Production output คือ จำนวนที่ผลิตจริงในช่วงเวลาที่วัดค่า และ Standard output คือจำนวนค่ามาตรฐานที่เครื่องจักรสามารถผลิตได้ในช่วงเวลาที่วัดค่า
   
     ตัวอย่าง ในวันที่อากาศกำลังสบายนั้น มีการผลิตสินค้า ผ่านเครื่องจักรดังกล่าวจำนวน 12,000 ชิ้น ตรงจุดนี้เรียกว่า production output
     
      ถัดมา คือค่า Standard output  ค่านี้มาจากไหนกัน ตามท้องเรื่อง ก็ต้องบอกว่ามาจากค่าของ Standard capacity * Loading time 
    
      ค่าของ standard capacity คือค่าที่มาจาก spec ของเครื่องจักร เช่น เครื่องจักรนี้ ทาง vendor บอกว่าผลิตสินค้าได้ ชั่วโมงละ 3000 ชิ้น  และเราทราบจากข้อมูลก่อนหน้าว่า ในวันนี้ เครื่องจักรนี้ มี Loading time คือ 5 ชั่วโมง
    
      คำนวณหาค่า Standard output = Standard capacity * Loading time
                                               = 3000 * 5  = 15000 

            %P = (12,000 * 100) / 15000
           ได้ค่า %P คือ 80%

- เรามาเกินครึ่งทางแล้ว อีกนิดเดียวครับ มาดูค่าสุดท้ายกัน นั่นคือ %Q  ซึ่งพูดถึงปริมาณที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบคุณภาพ 
  
    %Q เกิดจาก (Production output – NC quantity) * 100 / Production output

   มีค่าที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ NC quantity  ค่านี้ คือจำนวนที่ไม่ผ่าน QC ครับ ตัวอย่างสำหรับการนำไปคำนวณ คือให้ค่า NC quantity = 50 ชิ้น ดังนั้นคำนวณหา %Q ได้ดังนี้

      %Q = (12000 - 50) * 100 / 12000
      ได้ค่า %Q คือ 99.58%
          
       เมื่อได้ครบ 3 มิติแล้ว คำนวณหา ค่าของ OEE = %A * %P * %Q     

       OEE = 71.42% * 80% * 99.58% = 56.89%

        สรุปได้ว่า ในวันที่อากาศกำลังสบายนี้ มีการผลิตสินค้าผ่านเครื่องจักรตัวนึงในโรงงาน และเกิดเหตการณ์ที่ไม่คาดฝันต่างๆ เมื่อผู้จัดการโรงงานทำการเรียกดูรายงาน จึงพบว่ามีค่า OEE ของเครื่องจักรในวันดังกล่าว 56.89% ครับ
     
        ในการใช้งานจริง จะแสดงค่า OEE เป็นรายเดือน เพื่อดูภาพรวมครับ และทำการเปรียบเทียบ เดือนต่อเดือน ในระยะเวลา 1 ปี เพื่อดูแนวโน้มของการทำงานผ่านเครื่องจักรแต่ละตัว เพื่อนำไปปรับปรุงให้มีการทำงานที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ฐานข้อมูลที่นำมาคำนวณ จะมาจากข้อมูลรายวันเสมอ  

สำหรับผู้ที่สนใจบทความนี้ สามารถติดตามจาก

https://www.facebook.com/ConsultChorn
https://consultchorn.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น