วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560

อยากรู้ : ผลิตนาฬิกาข้อมือ ทำยังไง?

อยากรู้ ผลิตนาฬิกาข้อมือ  ทำยังไง?
Series : Easy Production - Thailand 4.0
เกริ่นนำ : บทความเหล่านี้เขียนขึ้นเพื่อเล่าเรื่องการผลิตในอุตสาหกรรม โดยใช้ประสบการณ์ของผู้เขียน เนื้อหาจะแบ่งเป็นหลายตอน ผู้อ่านสามารถเลือกเฉพาะบทความที่สนใจได้
ผมมีนาฬิการข้อมือเรือนแรก เมื่อขึ้นชั้นมัธยมต้น เนื่องจากต้องเดินทางไปเรียนในเมือง จำได้ว่านาฬิกาเรือนแรกเป็นระบบ Automatic หน้าปัดสีเขียว ยี่ห้อโอเรียนท์ ราคาไม่ถึงพัน ผมชอบนำมาแนบหูฟังเสียงนาฬิกา ดังเป็นจังหวะ มันยังทำงานอยู่  ในยุคสมัยนั้น ผมเริ่มเห็นผู้คนเริ่มใส่นาฬิกาแบบดิจิตอล ที่บอกเวลา วัน วันที่ และจับเวลา รวมถึงเป็นเครื่องคิดเลขด้วย มีปุ่มกดเล็กมาก ดูแล้วมันล้ำมาก แต่มาถึงวันนี้ คงไม่เห็นแล้วครับ
เมื่ออายุมากขึ้น ผมยังชอบนาฬิกา Automatic อยู่เหมือนเดิม คิดจะซื้อหานาฬิกาดีๆ มาใส่บ้าง ที่ไปเล็งๆ ไว้ ก็มียี่ห้อ ORIS แต่พอได้ลองแล้ว เปลี่ยนใจครับ ลวดลายที่สวยๆ บนตัวเรือนและบนหน้าปัด ผมมองไม่เห็นครับ เลยต้องเปลี่ยนใจ ไปคบหานาฬิกาแบบเรียบๆ แทน ไม่ต้องมีอะไรมาก ขอแค่มีหน้าปัดใหญ่หน่อย และเห็นเข็มมันเดินก็พอแล้ว
นาฬิกาที่อยู่บนข้อมือเราๆ ท่านๆ โดยทั่วไปมีเพียง 2 แบบ คือแบบมีเข็ม และแบบไม่มีเข็ม  บทความนี้จะพูดถึงการผลิตนาฬิกา ที่มีกลไกเคลื่อนไหว (Mechanical Movement)  ผมกำลังพูดถึง นาฬิกาแบบมีเข็มครับ
 การผลิตนาฬิกา เป็นงานที่มีความละเอียดสูงมาก แต่ละเรือนประกอบด้วย ชิ้นส่วนที่เป็นฟันเฟืองขนาดเล็กนับร้อยๆ ชิ้น อัดแน่นอยู่ภายในตัวเรือน และทำงานแบบสัมพันธ์กันอย่างสุดๆ คนที่ทำงานด้านนี้ต้องผ่านการอบรมเป็นแรมปี จนเรียกว่าเป็นช่างฝีมือกันเลย
ต้นแบบของการผลิตนาฬิกา ต้องยกให้ประเทศสวิส แต่เดี๋ยวนี้ญี่ปุ่นและจีน ก็กำลังสร้างอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน แต่เป็นระดับกลางลงมา ส่วนนาฬิกาที่อยู่ในระดับบนยังคงเป็นของทางยุโรปอยู่ ใครรู้บ้างว่าประเทศสวิสใช้ภาษาอะไรเป็นภาษาในการสื่อสาร ผมคนนึงละ บอกตรงๆ เพิ่งรู้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เดี๋ยวท้ายบทผมมีเฉลย
การผลิตนาฬิกา ประกอบด้วยหลายสายการผลิต ดังนี้
-       ผลิตตัวเรือน (Main case)
-       ผลิตเข็ม (Watch hand)
-       ผลิตสายนาฬิกา (Bracelet)
-       ผลิตหน้าปัด (Dial)
-       ผลิตตัวเครื่อง (Movement)
-       การหีบห่อนาฬิกา (Packaging)
       การผลิตแต่ละหัวข้อด้านบน ในต่างประเทศ จะแยกโรงงานกันผลิตและอยู่คนละเมืองกัน ทำให้เกิด Supply chain ขนาดใหญ่ และวางแผนทำงานให้สอดคล้องกัน
       การวางแผนเกิดขึ้นที่โรงงานหลัก ในที่นี้คือโรงงานสุดท้าย หรือจุดสุดท้ายที่เกิดการผลิต ยกตัวอย่าง โรงงานหีบห่อ รับคำสั่งขาย (Sales order) นาฬิกาสำเร็จรูป เพื่อขายให้กับลูกค้า เมื่อมีการ Run MRP โปรแกรมตอบสนอง โดยสร้างแผนผลิต (Planned order)  และส่งข้อมูลจำนวนความต้องการ และเวลาที่ต้องการใช้ กระจายไปยังชิ้นส่วนต่างๆ ในโครงสร้าง BOM และส่งความต้องการ ไปยังโรงงานที่เกี่ยวข้อง เป็นทอดๆ ไป จนถึงจุดสุดท้ายคือ วัตถุดิบที่ใช้ในแต่ละโรงงาน เพื่อออกใบสั่งซื้อ (Purchase order)
        กลับมาที่แผนผลิตแต่ละชิ้นส่วน เริ่มที่ สายการผลิตตัวเรือน โดยนำแท่งโลหะแบน (Steel bar) มาเจาะ (Punch) เป็นเรือนมาฬิกาเปล่า (Blank case) ผ่านการอบความร้อน (Heat) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งให้กับโลหะ จากนั้นกลึง (Machining) ให้เป็นรูปร่าง และเชื่อม  (Welding) ส่วนประกอบอื่นลงในตัวเรือน จากนั้นก็ทำการขัดเงา (Polishing) สำหรับขั้นตอนการขัดเงานี้ต้องอาศัยช่างที่มีฝีมือเป็นอย่างสูง ขัดไม่ดี รูปทรงเปลี่ยน จากของดีกลายเป็นของเสียซะงั้น
         ต่อกันที่สายการผลิตเข็มนาฬิกา (Watch hand) หลักการทำงานก็คล้ายๆ กับการผลิตตัวเรือน คือนำแผ่นโลหะ แต่เป็นแผ่นขนาดบาง มาปั๊ม เป็นเข็มนาฬิกา อาจมีกระบวนการเพิ่มเติม เช่นพิมพ์สีลงบนเข็มนาฬิกา และอบความร้อน เพื่อให้สีติดทนนาน ไม่ซีดง่ายๆ เป็นต้น
       สายการผลิตสายนาฬิกา (Bracelet) ใช้วัตถุดิบแผ่นโลหะมาปั๊มขี้นรูป ให้เป็นข้อเล็กๆ เรียกว่า Bracelet link จากนั้นนำไปอบความร้อน และขัดให้เงา เมื่อได้ความเงาแล้ว จะร้อยเรียงข้อเล็กๆ เหล่านั้นด้วยเข็มเชื่อม (Needle)
       สายการผลิตหน้าปัด (Dial) ใช้แผ่นโลหะมาปั๊มขึ้นรูป และทำการเจาะรู จากนั้นพิมพ์สีบนหน้าปัดด้วยการสเปรย์สีพิเศษ และนำไปอบความร้อนเพื่อให้ได้คุณภาพสีที่ดี
   สายการผลิตตัวเครื่อง (Movement)  ซึ่งเป็นหัวใจหลักของนาฬิกา ประกอบด้วยเฟืองตัวเล็กๆ มากมาย ถ้าเป็นนาฬิกาควอทซ์ จะมีฟันเฟืองประมาณ 80 – 100 ชิ้น  แต่ถ้าเป็นนาฬิกาแบบ Automatic จะมีฟันเฟืองอยู่ระหว่าง 250 – 350 ชิ้น ยิ่งมีลูกเล่นบนหน้าป้ดนาฬิกามากเท่าไร ก็ยิ่งมีฟันเฟืองมากขึ้น (ราคาแพงตามด้วย) เพื่อถ่ายทอดกำลังไปยังลูกเล่นเหล่านั้น มาดูว่าฟันเฟืองต่างๆ เหล่านั้นผลิตกันอย่างไร
   เริ่มต้นที่กระบวนการ Machining นำโลหะท่อนๆ นี่แหละ มากลึง (Lathing) จนได้ขนาดที่กำหนด การกลึงใช้เวลามากและต้องใช้น้ำมันเพื่อลดความร้อน เครื่องกลึง ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานทั้งหมด จากนั้นเครื่องจะตัดเป็นชิ้นๆ ส่งต่อไปให้เครื่องที่ทำฟันเกียร์ (Gear hobbing) ตามด้วยการอบความร้อน ชุบแข็ง และขัดเงา ทั้งหมดนี้ สามารถทำผ่านเครื่องจักรได้ทั้งหมด
    เมื่อได้ชิ้นส่วนเล็กๆ แต่ละขนาดแล้ว  กระบวนการถัดไปคือการประกอบชุดย่อย เรียกว่า Pre-assembly โดยนำเม็ดทับทิม (Ruby) มาวางลงบนตัวเรือนบนเบ้าที่เตรียมไว้ เพื่อลดแรงเสียดทานระหว่างฟันเฟืองที่วางบนตัวเรือน จากนั้นประกอบชิ้นส่วนยึดโยงบนตัวเรือน และส่งไปที่กระบวนการสุดท้ายคือ Assembly ในขั้นตอนนี้จำเป็นต้องอาศัยฝีมือของผู้ทำงาน ที่ต้องผ่านการอบรมเป็นแรมปี เราเรียกบุคคลเหล่านี้ว่า Craftman 
Craftman จะบรรจงวางฟันเฟืองบนตัวเรือนทีละเฟือง หน้าที่ฟันเฟืองด้านล่าง คือการส่งกำลังไปที่เข็มนาฬิกา ส่วนฟันเฟืองที่วางอยู่บนสุด เกี่ยวกับการปรับวันและวันที่ นอกจากการวางเฟืองต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ คือสปริง (Main spring) ซึ่งเปรียบเสมือนหัวใจที่ให้พลังงานในการขับเคลื่อนฟันเฟืองต่างๆ ในขั้นตอนนี้ ถ้าเป็นนาฬิกาที่มีราคาสูง จะมีกระบวนการพิเศษ เพื่อปรับสปริง (Balance wheel) ให้มีค่าที่เที่ยงตรงมากๆ เมื่อวางฟันเฟืองและสปริงลงในตำแหน่งต่างๆ แล้ว ถัดไปคือวางหน้าปัดและเข็มนาฬิกาที่ด้านบน และปิดด้านหน้าเรือนนาฬิกาด้วยชุดกระจก (Watch head) จะเห็นว่าการประกอบ Movement เป็นงานที่ละเอียดอ่อนมาก ถือว่าเป็นจุดบรรจบกันระหว่างความเที่ยงตรงของเครื่องจักรและฝีมือมนุษย์ สำหรับช่างฝีมือไทย ถ้าได้รับการอบรมในลักษณะนี้ น่าจะทำได้ดี เพราะคนไทยเก่งเรื่องงานฝีมืออยู่แล้ว
เมื่อได้ Watch part ครบแล้ว ขั้นตอนสุดท้ายคือนำสายนาฬิกาและตัวเรือนที่มีเครื่องแล้ว ประกอบเข้าด้วยกัน พร้อมจัดลงกล่องที่มี packaging สวยงาม จนคนที่ซื้อ ไม่อยากทิ้งกล่อง ถ้าไม่เชื่อลองไปซื้อดูครับ กล่องสวยจริง
มาถึงจุดนี้แล้ว ผมคิดว่าสิ่งสำคัญของการผลิตนาฬิกา คือต้องมีเครื่องจักรสำหรับการผลิตที่ทำงานได้เที่ยงตรงมากๆ และต้องอาศัยแรงงานที่มีทักษะในการทำงานที่สูงมาก ส่วนการวางแผนการผลิต ต้องมีแผนต่อเนื่องสำหรับชิ้นส่วนต่างๆ และพึ่งพากันระหว่างโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วน โดยบริษัทต่างๆ จะเลือกใช้ software การวางแผนและผลิตเพื่อส่งข้อมูลแผนความต้องการระหว่างโรงงานกัน
ในแง่ของวัตถุดิบโลหะที่มีมูลค่าสูง ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ สามารถใช้สิทธิ์ของ BOI เพื่อลดภาษีการนำเข้าได้
สำหรับคำเฉลย ทางตะวันตกติดฝรั่งเศส ทางเหนือติดเยอรมัน ด้านใต้ติดอิตาลี ดังนั้น สวิสจึงพูดกันถึง 3 ภาษา สวิสไม่มีภาษาเป็นของตัวเองครับ

สำหรับผู้ที่สนใจบทความนี้ สามารถติดตามจาก

https://www.facebook.com/ConsultChorn
https://consultchorn.blogspot.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น