Series : Easy Production - Thailand 4.0
เกริ่นนำ : บทความเหล่านี้เขียนขึ้น เพื่อเล่าเรื่องการผลิตในอุตสาหกรรม โดยใช้ประสบการณ์ของผู้เขียน เนื้อหาแบ่งเป็นหลายตอน ผู้อ่านสามารถเลือกเฉพาะบทความที่สนใจได้
รถยนต์แต่ละคัน มีชิ้นส่วนทั้งเล็กและใหญ่ รวมๆ กัน เป็นหมื่นชิ้น และถ้าเข้าไปเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์ มักจะพูดถึงระบบ Kanban เสมอ คำนี้เป็นภาษาญี่ปุ่น ถ้าอ่านเป็นภาษาไทย จะอ่านว่า “คัมบัง” แล้วมันคืออะไร ถ้าพูดรวมๆ อาจจะหมายถึง วิธีการควบคุมการจัดหาวัสดุในระบบผลิต
หัวใจของการทำงานในระบบคัมบัง คือ การเป็นระบบ Pull System หมายถึงว่า ระบบจะเริ่มผลิต ก็ต่อเมื่อมีการนำไปใช้ ไม่ว่าใช้เพื่อขาย หรือใช้สำหรับผลิตต่อในกระบวนการถัดไป ซึ่งจะให้อำนาจแก่พนักงานที่อยู่หน้างาน เป็นคนบริหารการผลิตเอง โดยพนักงานต้องเป็นคนตรวจสอบ stock ที่ค้างในแต่ละจุด ด้วยสายตาของตนเอง (Visual) เมื่อ stock ถูกใช้ไป ก็ต้องทำการเติมเข้ามาทันที โดยวัสดุแต่ละชนิด จะถูกจัดวางในถาด (container) ที่กำหนดจำนวนคงที่ต่อถาดเสมอ
การควบคุมโดยพนักงาน ทำผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า บัตรคัมบัง แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก
- บัตรคัมบังชนิดแรกเรียกว่า บัตรเบิก (Part Withdraw - PW) ใช้เพื่อ เคลื่อนย้ายวัสดุระหว่างพื้นที่
- บัตรคัมบังชนิดที่สองเรียกว่า บัตรผลิต (Part Instruction - PI) ใช้เพื่อ สั่งให้เริ่มการผลิต
ตัวอย่างของการทำงานในระบบผลิต มีผู้เกี่ยวข้อง 2 หน่วยงาน คือ หน่วยงานผลิต (Production) และหน่วยงานควบคุมการผลิต (Production control - PC)
----------------------------------------------------------------------------------
การทำงานของแต่ละบัตร เริ่มจากบัตร PW (Part Withdraw)
- ขั้นตอนที่ 1 เมื่อวัสดุถูกใช้ในการผลิต ถาดที่ใส่วัสดุ ก็จะเริ่มว่าง
- ขั้นตอนที่ 2 หน่วยงานผลิตทำการหยิบใบ PW ที่เสียบอยู่ในถาด นำไปใส่ไว้ที่ตู้ Kanban Post (หลักการเหมือนตู้ไปรษณีย์) ที่อยู่หน้าไลน์การผลิต
- ขั้นตอนที่ 3 หน่วยงาน PC มีหน้าที่ในการเดินตรวจสอบบัตรคัมบัง PW ที่อยู่ในตู้ Kanban Post ของแต่ละไลน์การผลิต
ในขั้นตอนนี้ ถ้าเป็นการทำงานแบบ manual หน่วยงาน PC ก็จะต้องหยิบบัตร PW นี้ ไปเสียบลงที่หน่วยงานต้นน้ำ พร้อมกับนำถาดว่างไปด้วย เพื่อรอการ supply วัสดุนี้ โดยมีอีกตู้หนึ่งที่หน่วยงานต้นน้ำ เรียกว่า Forming Lot
ถ้ามีซอพแวร์ มาร่วมในการบริหาร หน่วยงาน PC สามารถทำการ scan barcode ที่บัตร PW เพื่อสร้าง reservation สำหรับการโอน และให้หน่วยงานต้นน้ำเห็นความต้องการนี้
----------------------------------------------------------------------------
การทำงานของบัตร PI (Part Instruction)
- ขั้นตอนที่ 1 หน่วยงาน PC ทำหน้าที่ในการตรวจสอบจำนวนบัตร PW ในตู้ Forming lot
- ขั้นตอนที่ 2 ถ้าหน่วยงาน PC พบว่ามีการสะสมของบัตร PW ถึงจุดที่สั่งผลิตแล้ว หน่วยงาน PC ทำการเรียกบัตร PI เพื่อสั่งให้เริ่มทำการผลิต ซึ่งใช้บัตรเป็นคนละสี เพื่อแยกความแตกต่าง ถึงแม้จะยังคงอ้างถึงวัสดุเดียวกัน ตรงจุดนี้ถ้าโรงงานมีการใช้ซอพแวร์ช่วยในการทำงาน ก็อาจจะพบหน้าจอ Kanban Board ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการเปิดใบสั่งผลิต
- ขั้นตอนที่ 3 หน่วยงานผลิตทำการผลิตตามบัตร PI และเมื่อผลิตเสร็จ ก็จะนำไปวางไว้บนถาดในไลน์ผลิต (เป็นคนละถาดกับถาดว่างที่ส่งมาจากปลายน้ำ)
- ขั้นตอนที่ 4 หน่วยงาน PC ทำการจัดการกับวัสดุที่ผลิตได้ แบ่งเป็น 2 ประเภท
o ประเภทแรก คือ จำนวนที่ผลิต แต่ละครั้ง เท่ากับจำนวนที่ร้องขอมา หมายถึงจำนวนที่ผลิตตามบัตร PI เท่ากับจำนวนที่ขอตามบัตร PW ในกรณีนี้ ให้ทำการสลับบัตรบนถาดที่ส่งออกมาจากระบบผลิตได้ และนำส่งไปยังหน่วยงานปลายน้ำได้ทันที
o ประเภทที่สอง คือ จำนวนที่ผลิตต่อบัตร PI มากกว่าจำนวนต่อบัตร PW ในกรณีนี้ หน่วยงาน PC ต้องย้ายวัสดุจากถาดผลิตที่มีบัตร PI ไปยังถาดว่างที่และเสียบบัตร PW จากนั้นนำส่งไปยังหน่วยงานปลายน้ำ
------------------------------------------------------------------
จากกระบวนการทั้งหมด ทำให้เห็นว่า หน่วยงานที่อยู่ในไลน์การผลิต ต้องมีวินัยในการตรวจสอบ stock ที่อยู่หน้างานเสมอ
----------------------------------------------------------------------------
สำหรับผู้ที่สนใจบทความนี้ สามารถติดตามผ่าน
https://www.facebook.com/ConsultChorn
https://consultchorn.blogspot.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น