Series : Easy Production - Thailand 4.0
เกริ่นนำ : บทความเหล่านี้เขียนขึ้นเพื่อเล่าเรื่องการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆ
รอบตัวเราแบบเข้าใจได้ง่ายๆ สำหรับผู้ที่อยากเรียนรู้โลกกว้าง
สอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0
โดยใช้ประสบการณ์ของผู้เขียน
มาถ่ายทอดโดยใช้การเล่าเรื่อง ภาษาที่ใช้ก็อาจจะบ้านๆ หน่อย
เพื่อเข้าใจได้ง่าย เนื้อหาจะแบ่งเป็นหลายตอน
ผู้อ่านสามารถเลือกเฉพาะบทความที่สนใจได้
อยากรู้ : ผลิตอาหารสัตว์ ทำยังไง?
ในระบบธุรกิจผลิตอาหารสัตว์
ที่มีการแข่งขันสูง การตั้งราคาขายก็ต้องดูทิศทางของตลาดด้วย
ซึ่งดูๆแล้วก็ไม่มีทางที่จะตั้งราคาได้สูงนัก จึงมีกำไรน้อย การประหยัดต้นทุนถือเป็นสุดยอดของเคล็ดวิชาที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้
แต่ก่อนที่จะไปดูว่าการประหยัดต้นทุนมีวิธีการอะไรบ้าง
เราจะต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานของธุรกิจก่อน
จากประสบการณ์การทำงานกับระบบผลิตอาหารสัตว์
(Feed Mill) ของโรงงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ผมจะต้องพูดคุยกับพนักงานฝ่ายผลิตถึงเทคนิคการผลิตต่างๆ
ซึ่งจะต้องปรับจูนการพูดคุยให้เป็นภาษาเดียวกัน และต้องเป็นมาตรฐานสากลด้วย ดังนั้นศัพท์เทคนิคต่างๆ ที่ผมใช้ในการสื่อสารกับพนักงานนั้น
อาจไม่เป็นที่คุ้นเคย ทำให้เกิดอาการงงๆ มึนๆ อึนๆ ไปพักนึง ต่อเมื่อเวลาผ่านไป จึงจะเริ่มคุ้นชิน
และเริ่มพูดคุยกันรู้เรื่องมากขึ้น สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติที่ผมพบเสมอ
ซึ่งเราก็จะให้เวลาทุกคนได้ปรับตัวกัน
และในที่สุดก็จะพูดจาภาษาเดียวกัน
เรามาเริ่มกันเลยนะครับ
หากคุณมองไปรอบๆตัว จะพบว่า มีอาหารสัตว์วางจำหน่ายหลากหลายยี่ห้อ มีทั้งของใน
ของนอก แล้วแต่ความต้องการของตลาด เช่น
อาหารสุนัข อาหารแมว อาหารพวกนี้ จะอยู่ในกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง
สอดรับกับเทรนด์การเลี้ยงสัตว์ของมนุษย์ในปัจจุบัน หรืออาจจะผลิตอาหารหมู อาหารไก่
อาหารวัว ซึ่งอยู่ในกลุ่มอาหารสัตว์บก นอกจากนี้ก็มีการผลิตอาหารสัตว์น้ำด้วยนะ
เช่น อาหารปลาดุก อาหารปลาสวาย เป็นต้น ยังไม่นับถึงอาหารนก
หรือบางครั้งคุณอาจจะนึกไม่ถึง มันคือ อาหารจิ้งหรีด อันนี้ก็แล้วแต่ว่าบริษัทผลิตอาหารสัตว์จะไปทำวิจัย เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เป็น Niche market (อนาคต อาจมีอาหารสำหรับ ตุ๊กแก ออกมาบ้างก็ได้ J )
อาหารแต่ละชนิดที่กล่าวถึงนี้ ใครคิดค้นได้ก่อน
ก็จะกลายเป็นที่จดจำคนแรก
และเป็นผู้นำตลาดไป เพราะในโลกนี้
ไม่มีใครจำคนที่สองได้หรอก ไม่เชื่อลองถามตัวคุณเองว่า จำได้มั้ย
ว่าใครเหยียบดวงจันทร์คนที่สอง ผมมีเฉลยให้
เดี๋ยวไปดูตอนท้าย
ธุรกิจผลิตอาหารสัตว์ที่อยู่ในบ้านเรา
น่าจะมีหลายร้อยบริษัท มีตั้งแต่ระดับโลก ที่มาตั้งอยู่ในไทย ระดับประเทศก็หลายเจ้าอยู่ และที่เป็น SME ก็เยอะ
จะเห็นว่ามีหลาย Scale มาก แต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิต (Feed ingredient) ซึ่งได้แก่ กากถั่ว มันเส้น ข้าวโพด รำข้าว ปลาป่น สิ่งเหล่านี้เป็นสัดส่วนหลักในการผลิต แต่อาจปรับสัดส่วนการใช้วัตถุดิบได้บ้างตามขอบเขตที่กำหนด
นอกจากนั้นก็จะผสมวิตามินและยาต่างๆ ลงไป เพราะสัตว์ที่บริโภคอาหารมีความจำเป็นต้องใช้เพื่อทำให้ร่างกายแข็งแรง
มีความต้านทานโรคต่างๆ ได้ดีขึ้น บางครั้งอาจมีการผสมน้ำหรือของเหลวอื่นๆ
ลงไป เพื่อให้วัตถุดิบสามารถผสมกันได้ดีขึ้น
แต่เราไม่นับให้อยู่ในสูตรผลิต ตรงนี้อาจมีคนแปลกใจนิดนึงว่าถ้าผสมน้ำหรือของเหลวแล้วไม่นับ
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องใช้เท่าไหร่ อย่างไร ตรงนี้บอกได้เลยว่า
มันขึ้นกับเทคนิคการผลิตของแต่ละโรงงานครับ
เอาละสำหรับผู้ไม่เคยรู้เรื่องระบบผลิตมาก่อน ตอนนี้ก็จะได้รู้ละ
สำหรับวัตถุดิบต่างๆ ที่ใช้ จะต้องมีสูตรการผลิตที่ชัดเจน เรียกว่า Bill of Material หรือเรียกสั้นๆ ว่า BOM
เป็นคนละตัวกับ Bomb ที่เกาหลีเหนือกำลังขู่อเมริกาครับ
โดย BOM แต่ละ BOM
ก็อาจจะกำหนดสัดส่วนของวัตถุดิบที่ใช้
ตามขนาด Batch size (จำนวนที่ต้องการผลิตต่อ 1 ครั้ง) เพราะว่าวัตถุดิบต่างๆ เอามาผสมทันทีไม่ได้ ต้องแปลงสภาพทายกายภาพของวัตถุดิบเหล่านั้นก่อน
โดยมีขั้นตอนต่างๆ รองรับ เราเรียกขั้นตอนการผลิตหรือแปลงสภาพวัตถุดิบเหล่านี้ว่า Routing
คำว่า
Routing คือขั้นตอนที่นำวัตถุดิบมาผ่านเครื่องจักรต่างๆ โดยมีการกำหนดเป็นกระบวนการ
(Process) บางครั้งอาจจะผ่านขั้นตอนเดียวก็ได้สินค้าแล้ว
หรือบางครั้งอาจต้องผ่านหลายขั้นตอน กว่าที่จะได้เป็นสินค้า ขั้นตอนเหล่านี้จะต้องมีมาตรฐานด้วย
โดยกำหนดค่า Batch size (จำนวนที่ต้องการผลิตต่อ 1 ครั้ง) ว่า แต่ละครั้งในการผลิตต้องใช้ระยะเวลาในขั้นตอนนั้นๆ
เป็นเท่าไร
อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
วัตถุดิบจะนำมาผสมกันทันทีไม่ได้ เรามาดูกันว่ากระบวนการต่างๆ เริ่มต้นตรงจุดไหน
เริ่มแรก วัตถุดิบส่วนใหญ่ที่ซื้อมาจะเป็นชิ้นค่อนข้างใหญ่ อย่างเมล็ดข้าวโพดแห้งๆ
เนี่ย สัตว์จะกินทันทีไม่ได้นะ เพราะจะติดคอหรือคงฝืดคอมาก ดังนั้นต้องมาบดซะก่อน
ให้ละเอียดขึ้นหน่อย ก็คงเหมือนมนุษย์เราครับ จะทานอาหารก็ต้องละเมียดนิดนึง การบดเนี่ย เค้าเรียกว่า กระบวนการ Grinding ผลลัพธ์จะเป็นวัตถุดิบที่ละเอียดขึ้น ถ้าต้องการละเอียดมากก็ต้องบดนานหน่อย
ขึ้นอยู่กับความต้องการนั่นเอง ในระบบอุตสาหกรรม คงไม่มีใครมานั่งสังเกตหรอกครับ ดังนั้นจะกำหนดเป็นขั้นตอนมาตรฐานว่า
ถ้าต้องการละเอียดเท่านี้ ก็ต้องใช้เวลาเท่านี้ เป็นต้น ซึ่งก็คือ Routing นั่นเอง
กระบวนการถัดมาคือการนำวัตถุดิบที่ละเอียดมาผสมกัน
อาจจะเติมสีสรร หรือเพิ่มรสชาด รวมถึงวิตามินและยาให้มีความเป็นอาหารมากขึ้น
กระบวนการนี้ เรียกว่า Mixing ตัวเครื่องจักรที่ใช้ในการผสมก็จะคล้ายๆ
เครื่องกวน ก็กวนเข้าไปให้มันกลมกลืมกัน เหมือนกับการละลายพฤติกรรมของคน
มาจากไหนก็ไม่รู้ แต่เมื่อมาทำงานด้วยกัน ก็ต้องทำตัวกลมกลืนกันหน่อย
จะได้อยู่ร่วมกันได้
หลังจากที่กวนหรือผสมจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว
บางครั้งก็ส่งขายเป็น bulk ไปได้เลย (Bulk คือรถที่มีถังบรรจุ
คล้ายๆ รถขนน้ำมัน อาจจะแบ่งด้านในถังเป็นหลายช่อง ซึ่งแต่ละช่องเรียกว่า compartment เพื่อแยกอาหารแต่ละชนิดได้) แต่ในบางกรณีหลังจากผ่านกระบวนการผสมวัตถุดิบเข้าด้วยกันแล้ว
สัตว์บางชนิด อาจจะไม่ชอบลักษณะทางกายภาพ
จำเป็นต้องมีการเอาใจนิดนึง โดยเพิ่มกระบวนการอัดอาหารผสม ให้ขึ้นรูปเป็นเม็ด
เรียกว่า Pellet
หรือ Extrude สิ่งที่ได้ออกมา
สามารถส่งขายเป็น bulk ได้เช่นกัน
โดยทั่วไป
ธุรกิจที่ขายผ่าน bulk จะเน้นการขายให้กับฟาร์มขนาดใหญ่ กระบวนการสำคัญอีกอันหนึ่งที่จะต้องมี
คือกระบวนการบรรจุเป็นถุงย่อย เพื่อขายให้กับลูกค้าทั่วไป ดังนั้นถ้าต้องการขายเป็นถุง ต้องมี process เพิ่ม (อีกแล้ว) กระบวนการนี้จะเป็นกระบวนการหีบห่อ เรียกว่า Packing
โดยใช้เครื่องจักรและคนงาน
ถุงส่วนใหญ่จะมีขนาดมาตรฐาน เช่น ถุงละ 30
กิโลกรัม เป็นต้น
มาถึงตอนนี้เราจะได้ทั้งอาหารผงและอาหารเม็ด
ที่ขายในรูปแบบของ bulk และแบบถุงย่อย อย่างไรก็ตามในการทำงานจริง
อาจเกิดการผลิตสินค้าไม่ทัน จำเป็นต้องจ้าง Vendor
อื่นผลิตให้ ในส่วนนี้จะมีกระบวนการเพิ่มขึ้นมาอีก โดยแทรกในขั้นตอนใดก็ได้ กระบวนการนี้ เรียกว่า
การจ้างผลิตแบบ Subcontract ซึ่งทางโรงงานของเราจะต้องส่งวัตถุดิบบางอย่างไปให้
vendor ที่รับจ้างผลิตด้วย
ที่กล่าวมาทั้งหมด
ขอสรุปอีกทีให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้
การผลิตอาหารสัตว์
มีองค์ประกอบสำคัญ 2 อย่าง
อย่างแรก
คือ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต (Feed
ingredient) ซี่งจะถูกกำหนดในรูปของสูตรการผลิตที่แน่นอน
ที่เราเรียกว่า BOM โดยมีวัตถุดิบหลักในการผลิตอาหารสัตว์
ได้แก่ กากถั่ว มันเส้น รำ ปลาป่น ข้าวโพด เป็นต้น
อย่างที่สองคือ
ขั้นตอนต่างๆ ที่มีวัตถุดิบผ่านเข้ามา และแปรสภาพไปตามขั้นตอนที่กำหนด เรียกว่า Routing โดยเริ่มจากนำวัตถุดิบมาบด จากนั้นก็นำไปผสม
อัดขึ้นรูป แล้วหีบห่อลงถุงให้เรียบร้อย
สำหรับคำเฉลยว่า
มนุษย์อวกาศคนที่ 2 ที่เหยียบดวงจันทร์ ชื่อว่า Edwin Aldrin ครับ
ใครตอบถูก ผมดีใจด้วย แต่ไม่มีรางวัลให้นะ ในบทความต่อไป ผมจะพูดถึงปัจจัยที่มีผลต่อการลดต้นทุนการผลิต
เพื่อให้มีกำไรสูงสุด น่าสนใจมั๊ย ถ้าสนใจก็ติดตามกันต่อไปครับ
สำหรับผู้ที่สนใจบทความนี้
สามารถติดตามจาก
https://www.facebook.com/ConsultChorn
https://consultchorn.blogspot.com/
https://consultchorn.blogspot.com/
ผมจะนำเสนอบทความที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าในแต่ละอุตสาหกรรม
ที่ได้ไปออกแบบระบบการผลิต มาแบ่งปันให้ท่านที่สนใจ ได้ศึกษาและนำไปประกอบการทำงานในอนาคตครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น